สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา
หน้าแรก
|
แก้ไขข้อมูล
|
หัวข้อล่าสุด
|
สมาชิก
|
ค้นหา
|
FAQ
Username:
Password:
Save Password
All Forums
รวมบทความวิชาการน่ารู้
บทความรายการมนุษย์กับสังคม
การอบรมเลี้ยงดูเด็กแบบญี่ปุ่น ตอนที่ 1
ตั้งหัวข้อใหม่
ตอบกลับหัวข้อนี้
พรินต์ส่งให้เพื่อน
Author
Topic
admin
Forum Admin
5926 Posts
Posted - 21 Jan 2011 : 11:14:11
ปีงบประมาณ 2554
การอบรมเลี้ยงดูเด็กแบบญี่ปุ่น ตอนที่ 1
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นันท์ชญา มหาขันธ์
ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
หลายคนคงชื่นชมอัตลักษณ์บางประการของชาวญี่ปุ่น อาทิ ความมีระเบียบวินัย การเสียสละเพื่อส่วนรวม ความอดทน ความสุภาพ ความละเอียดอ่อน เป็นต้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสิ่งที่หล่อหลอมจิตใจ และบุคลิกภาพเหล่านี้คือการอบรมเลี้ยงดูแบบญี่ปุ่นซึ่งเกิดขึ้นในครอบครัว และสังคมรอบข้างยังช่วยตรวจสอบและกล่อมเกลาให้เข้ารูปเข้ารอยอีกด้วย สังคมญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กเป็นอย่างยิ่งเพราะถือว่าประชากรคือทรัพยากรอันมีค่าของประเทศ จึงทุ่มเทให้กับเด็กมาก เป็นต้นว่าผู้เป็นแม่จะลาออกจากงานเมื่อมีลูก เพราะถือว่าการเลี้ยงดูคนให้เติบใหญ่เป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคมนั้นเป็นงานสำคัญของแม่ และเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้การทำงานนอกบ้านของพ่อบ้านผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวเลย
หัวข้อใหญ่ๆ ในการสอนลูกของชาวญี่ปุ่นกับของคนไทยคงไม่แตกต่างกันนัก แต่วิธีการสอนอาจจะแตกต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงคำอธิบาย ที่ต้องการให้เด็กคิดถึงผู้อื่นและส่วนรวมเป็นหลัก ตัวอย่างคำสอนเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวที่บ้าน เป็นดังต่อไปนี้
1. เมื่อมีใครทำอะไรให้เราแม้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือแม้จะเป็นคนใกล้ตัว ให้กล่าวคำ
ขอบคุณ ในทันที เพราะเมื่อได้ยินคำขอบคุณ ผู้นั้นจะมีความสุข ถึงแม้จะเป็นเพียงคำพูด เขาจะมีกำลังใจทำเรื่องดีๆ และยิ่งไปกว่านั้น เราก็รู้สึกยินดีด้วย
2. เมื่อทำอะไรผิดพลาดลงไป แม้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือแม้กับคนใกล้ตัว ให้กล่าวคำ ขอโทษ ทันที การกล่าวคำขอโทษทำได้ยากกว่า ขอบคุณ เพราะต้องแสดงการรับผิดของตนเอง ถึงแม้บางครั้งเราไม่ได้ตั้งใจจะทำสิ่งนั้น เมื่อเราพูดออกไปเราจะสบายใจ ถ้าไม่ยอมพูด ปล่อยไว้นานๆ ก็จะติดค้างในใจเรา เพราะฉะนั้นทำอะไรผิดพลาดลงไป ต้องรีบขอโทษทันที ก่อนที่จะมุ่งอธิบายเหตุผลการกระทำ
3. เวลารับประทานอาหารแล้วรู้สึกว่าอร่อย ให้พูดว่าอร่อย เพราะคนที่ทำอาหารใช้ความตั้งใจทำมาให้ เมื่อเราชมเขาจะดีใจและมีกำลังใจ ถ้ารู้สึกว่าไม่อร่อย ให้รับประทานไปตามปกติไม่พูดติว่า ไม่อร่อย เพราะแค่เรารับประทานอาหารไปเงียบๆ คนทำอาหารก็รู้แล้วว่ารสชาติอาจจะไม่ดี ถ้าเรายิ่งพูดว่า ไม่อร่อย ยิ่งเป็นการทำร้ายจิตใจเขา อีกประการหนึ่งให้พูดคำว่า อร่อย ในฐานะของความรู้สึกขอบคุณที่อุตส่าห์ทำอาหารให้รับประทาน ไม่ใช่ในเรื่องของการประเมินรสชาติอาหาร
4. เวลารับประทานอาหารอย่าดูโทรทัศน์ไปด้วย เวลารับประทานอาหารเป็นเวลาที่ทุกคนมาอยู่ร่วมกัน ควรจะใช้เวลาด้วยกันอย่างมีความสุข สนใจเรื่องราวของคนในครอบครัว และบอกเล่าเรื่องราวของเราให้เขาฟังด้วย เป็นการแลกเปลี่ยนกันเพื่อความเข้าใจกัน อย่าเปิดโทรทัศน์เพราะเป็นการให้ความสำคัญกับโทรทัศน์มากกว่าคนที่นั่งร่วมโต๊ะ ถ้าในระหว่างนั้นมีคนโทรศัพท์มาหา ให้รับโทรศัพท์แล้วบอกว่าจะโทรกลับไปภายหลัง ที่ต้องรับเพราะฝ่ายนั้นเขาไม่ทราบว่าเรากำลังรับประทานอยู่ การให้ความสนใจกับโทรทัศน์หรือโทรศัพท์มากกว่าคนที่ร่วมรับประทานอาหารด้วย จะทำร้ายจิตใจพวกเขา ถือเป็นการไม่ให้เกียรติกัน
5. ไม่อ่านจดหมายหรือไปรษณียบัตรที่ส่งมาถึงคนในครอบครัว การทำอย่างนั้นเป็นการเสีย
มารยาท ก้าวล่วงสิทธิของคนอื่น ถึงแม้จะเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ถ้าเป็นเรื่องที่บอกเล่ากันได้ เมื่อเจ้าของอ่านแล้วเขาคงจะเล่าให้ฟัง และผู้ปกครองก็ต้องไม่อ่านจดหมายหรือไปรษณียบัตรที่ส่งมาถึงลูกเช่นกัน ต้องเชื่อมั่นว่าเรื่องที่ลูกไม่บอก อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นห่วง แต่ควรย้ำให้ลูกปรึกษาเสมอเมื่อมีเรื่องที่ไม่สบายใจ
ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างบางเรื่องของการอบรมสั่งสอนเด็กชาวญี่ปุ่น ที่น่าสนใจคือวิธีการอธิบายให้ลูกเข้าใจ ความเข้าใจจะทำให้ลูกทำตามอย่างมีเหตุผลและทราบว่าสิ่งเหล่านั้นมีความจำเป็น การอบรมในเชิงบวกเช่นนี้ จึงเป็นแรงสนับสนุนมากกว่าห้ามปรามหรือมีบทลงโทษ ซึ่งมนุษย์มักจะไม่รู้สึกดีกับเรื่องราวเชิงลบเช่นนั้น
แหล่งอ้างอิง
Natsumi Nagisa.(2006). Kodomo wo nobasu MAINICHI NO RUURU. Tokyo:Iwanamishoten.
Topic
ตั้งหัวข้อใหม่
ตอบกลับหัวข้อนี้
พรินต์ส่งให้เพื่อน
Jump To:
Select Forum
ข่าวสารจากหน่วยประชาสัมพันธ์
ใบบอกข่าวประชาสัมพันธ์
รวมบทความวิชาการน่ารู้
บทความรายการสุขภาพดีมีสุข
บทความรายการสุขภาพดี-ชีวีมีสุข
บทความรายการวิทยาศาสตร์เพื่อประชาชน
บทความรายการวิถีสุขภาพ
บทความรายการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
บทความรายการมนุษย์กับสังคม
บทความรายการก้าวไกลในโลกกว้าง
--------------------
Home
Active Topics
Frequently Asked Questions
Member Information
Search Page
สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา
© สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา
This page was generated in 0.05 seconds.
Snitz Forums 2000